top of page

หลักสำคัญในการสร้างคอนเทนต์ให้มีคุณภาพและมีความหมายใน Content Marketing


การสร้างคอนเทนต์

หลังจากที่เราเข้าใจแนวคิดของการสร้างคอนเทนต์แล้ว ทีนี้เราลองมาดูเทคนิคและหลักสำคัญเพื่อสร้างคอนเทนต์ให้เป็นไปตามแนวคิดที่กล่าวมากัน ซึ่งก็พอสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

  1. คิดถึงลูกค้าของคุณก่อน

  2. เน้นช่วยเหลือไม่ใช่เน้นขายของ

  3. กล้าที่จะให้ข้อมูลและความรู้ของคุณแบบฟรีๆ

  4. ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรเพื่อตอบโจทย์มวลชนใหญ่เสมอไป

  5. เล่าเรื่องที่ดี มีคุณค่า และไม่เล่นกับความไม่ถูกต้อง

  6. เล่าเรื่องให้เป็น

  7. คุณภาพของคอนเทนต์ต้องดี

1. คิดถึงลูกค้าของคุณก่อน

อย่างที่เราพูดกันมาพอสมควรว่าหัวใจของ Content Marketing คือการให้สิ่งที่มีค่าและสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ แน่นอนว่าสำหรับนักการตลาดนั้นมักจะมากับความคิดว่าสินค้าและบริการของตนนั้นยอดเยี่ยม ดี และมีประโยชน์ แต่สิ่งที่เราต้องไม่ลืมคือผู้บริโภคทั่วไปไม่ได้มีความรู้สึกครั่นคร้ามแบบเดียวกันแต่อย่างใด พวกเขาอาจจะแทบไม่เคยสนใจสิ่งที่โฆษณาพยายามบอกพวกเขาเลยด้วยซ้ำ สิ่งเดียวที่พวกเขาสนใจคือสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้นจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร ซึ่งนั่นทำให้คุณจำเป็นต้องสนใจในความต้องการของพวกเขาแทนที่จะสนใจว่าคุณต้องการอะไร


กระบวนการคิดโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้งนั้นเป็นอุปสรรคในการทำการตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้บริโภคเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับการทนดูโฆษณาที่ประดังเข้ามาในทุกๆ วัน ซึ่งจะว่าไปแล้ว วิธีการคิดแบบนี้มาจากการเชื่อว่าการตลาดที่ดีคือการพูดคุยถึงความยิ่งใหญ่หรืออัศจรรย์ในตัวแบรนด์ประเภทยิ่งถ้าพูดให้เยอะ ให้ดังไปเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดีขึ้นและส่งผลต่อยอดขายมากขึ้นเท่านั้น การคิดแบบนี้ส่งผลมายังรูปแบบการทำคอนเทนต์ประเภทเน้นปริมาณให้เยอะเข้าไว้ การวัดผลเน้นจำนวนของคนที่เห็นคอนเทนต์หรือ Awareness


จริงอยู่ว่าการคิดแบบนั้นได้ผลในอดีต ในยุคสมัยที่เทคนิคโฆษณาและการตลาดยังไม่เท่าทุกวันนี้ ในยุคที่ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากเท่านี้ แต่กับในปัจจุบันที่ผู้บริโภคเลือกและเปิดรับข้อมูลข่าวสารได้ด้วยตัวเองแล้ว คงจะดีกว่าถ้าเราทำการตลาดในลักษณะที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายของเรายอมเปิดรับการสื่อสารจากแบรนด์ของเราด้วยความเต็มใจ แทนที่จะถูกรบกวนจนสร้างการรับรู้แบบน่ารำคาญ


ลองคิดกันดูไหมครับ ว่าทุกวันนี้การสื่อสารในคอนเทนต์ของคุณที่ออกไปนั้น ให้ความสำคัญกับใครมากกว่ากัน ระหว่างลูกค้าของคุณหรือสินค้าของคุณ?


2. เน้นช่วยเหลือไม่ใช่เน้นขายของ

ผมเคยลองสังเกตน้องของผมคนหนึ่งซึ่งประสบความสำเร็จในการขายตรงของเขาทั้งที่หลายๆ คนมักพูดเสมอว่ารังเกียจการขายตรง (และผมเองก็ยังเป็นหนึ่งในลูกค้าของเขาเลย) สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอต่างจากนักขายตรงคนอื่นๆ คือเธอไม่ได้พยายามขายของหรือยัดเยียดให้ผมเป็นลูกค้าของเธอเลย ในทางกลับกันนั้น เธอกลับเน้นช่วยเหลือคนอื่นๆ ไม่ว่ามันจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับสินค้าของเธอก็ตาม


ความน่าสนใจคือการที่คุณให้ความสนใจกับลูกค้าของคุณแล้ว คุณจะพบว่ากลุ่มลูกค้าของคุณมักมีปัญหาร่วมกันหลายๆ อย่างซึ่งล้วนต้องการการแก้ไข ปัญหาเหล่านั้นล้วนสร้างความอึดอัดใจจนทำให้พวกเขากังวลและไม่สุขใจในชีวิตประจำวัน เมื่อมีใครสักคนเข้าไปแก้ปัญหานั้นๆ ให้แล้ว พวกเขาก็จะรู้สึกดีกับคนที่เข้าไปช่วยเหลือแทบทจะทันที

อ่านถึงตรงนี้หลายคนก็อาจจะคิดเลยว่า โอเค ปัญหาของพวกเขาแก้ได้ง่ายๆ ด้วยสินค้าของผม เดี๋ยวผมจะเอาสินค้าไปนำเสนอให้พวกเขา


แต่ในความเป็นจริงแล้วลองนึกภาพถ้ามีเพื่อนที่ทำขายตรงของคุณเดินมาหาแล้วก็บอกว่าคุณกำลังประสบปัญหาแบบนี้ๆ ลองใช้สินค้าชิ้นโน้นนี้ของเขาดู บลา บลา บลา เชื่อว่าหลายคนก็คงจะผงะแล้วเบือนหน้านี้กันเลยทีเดียว


ที่มันเป็นอย่างนั้นเพราะเรากำลังทำการตลาดโดยข้ามการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายไปโดยมุ่งหวังแต่จะปิดการขายแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าเรากำลังพูดถึงการตลาดที่มีแกนความคิดในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายให้เกิดขึ้น การตั้งหน้าตั้งตาจะขายของคงเป็นอะไรที่ไม่เข้าท่า นั่นก็เช่นเดียวกับที่น้องของผมที่แม้จะมีภาพเป็นนักขายอันดับสูงขององค์กรแต่ก็เข้าพูดคุยกับทุกคนโดยไม่มีใครรู้สึกว่าเธอกำลังขายของเลยแม้แต่น้อย และนั่นทำให้หลายๆ คน (รวมทั้งผม) รู้สึกว่าสายสัมพันธ์กับเธอนั้นไม่ใช่ในรูปแบบของ ลูกค้า-ผู้ขาย อะไรๆ มันก็ง่ายไปหมดทั้งเรื่องการพูดคุย แลกเปลี่ยน และเมื่อเราลดความกังวล เชื่อใจ เราก็จะเริ่มเปิดรับและยินดีที่รู้ว่าเขาทำอะไรมากกว่าแต่ก่อน พอวันที่น้องผมพูดถึงเรื่องสินค้าของเขา ผมก็มีความรู้สึกอยากฟังมากกว่าเซลขายตรงทั่วไปๆ มาพูด และนั่นก็ทำให้ผมซื้อสินค้าหลายชิ้นที่น่าสนใจโดยหากเป็นก่อนหน้านั้นผมคงเบือนหน้าหนีตั้งแต่พูดชื่อสินค้า


ถ้าให้เห็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ลองนึกภาพว่าถ้ามีคนหนึ่งเข้ามาหาคุณในงานปาร์ตี้แล้วเอาแต่พร่ำว่าเขาทำงานอะไร บ้านเขารวยแค่ไหน วันๆ เขาทำอะไรโดยไม่ได้สนใจว่าคุณเป็นอย่างไร แทบไม่ได้ถามว่าคุณคิดเห็นอย่างไรหรือทำอะไรมา คุณคิดว่าคนๆ นั้นน่าพูดคุยด้วยต่อมากน้อยแค่ไหน และในทางกลับกัน ถ้าคุณเจอคนที่สนใจในตัวคุณ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ พอรู้ว่าคุณมีปัญหาก็พยายามนึกและบอกวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว คุณจะรู้สึกกับเขาอย่างไร ใครคือคนที่คุณอยากคุยด้วย?


การสร้างความจริงใจในการช่วยเหลืออย่างที่น้องของผมทำก็แบบเดียวกับการสร้างคอนเทนต์ที่ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาเข้ามาขาย แต่คือการร่วมพูดคุยและนำเสนอสิ่งที่มีคุณค่าให้กลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องจนทำให้พวกเขาจดจำและประทับใจกับเรา

อย่าลืมว่าคุณยังมีการเทคนิคการตลาดอื่นๆ ที่ช่วยในการขาย เช่นการทำ Sale Promotion แต่พื้นที่ของคอนเทนต์ไม่ควรเป็นเรื่องการขายของ


3. กล้าที่จะให้ข้อมูลและความรู้ของคุณแบบฟรีๆ

รู้ไหมครับว่าทำไมหลายๆ คนถึงชอบไปบรรยายในงานสัมนาต่างๆ ทั้งที่หลายๆ ครั้งของการบรรยายนั้นไม่มีการเก็บค่าเข้าฟัง หลายๆ เว็บไซต์เปิดให้ดาว์นโหลดคอนเทนต์อย่าง eBook หรือ Whitepaper กันแบบฟรี? ที่เป็นเช่นนี้เพราะการให้ความรู้ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่หลายๆ คนต้องการนั้นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยให้หลายๆ คนสนใจและอยากรู้จักคุณมากขึ้น


ไม่ต้องคิดไปไหนไกล การได้ให้ประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ ฟรีๆ ก็คล้ายๆ กับการแจก Sampling ฟรีให้คนได้ลองใช้ หรือในร้านอาหารที่มีให้ทดลองชิม การเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายของคุณได้รับสิ่งที่มีประโยชน์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างแบรนด์ของคุณกับกลุ่มเป้าหมาย


ทุกวันนี้ผมเขียนบล็อกที่ nuttaputch.com ในการแชร์ประสบการณ์ ความรู้ และข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับทั้ง Content Marketing และ Digital Marketing และยังไม่นับ Whitepaper ที่ผมปล่อยให้ดาว์นโหลดฟรีเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆ ของ Facebook Marketing ทุกวันนี้มีคนเข้ามาเว็บไซต์ของผมมากขึ้นเรื่อย ในขณะที่ Whitepaper ถูกดาว์นโหลดไปหลายร้อยครั้ง แน่นอนว่าหลายคนอาจจะมองว่าผมเสียโอกาสเพราะสิ่งเหล่านี้น่าจะนำมาขายให้กับลูกค้าของผม แต่ในความเป็นจริงแล้วผมได้กลับมาจากการให้ฟรีมากกว่าที่ผมเคยคิดไว้เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นการถูกพูดถึงและแนะนำจากลูกค้าหลายคน มีการถูกเชิญไปพูดหรือบรรยายหลังจากได้เข้ามาติดตามอ่านบทความของผม ซึ่งนั่นกลายเป็นว่าสร้าง “โอกาส” อีกมากมายให้กับผม

ทีนี้หลายๆ คนก็อาจจะสงสัยต่อว่าถ้าเราจะให้ข้อมูลต่างๆ แบบฟรีๆ แล้ว เราจะเจอคู่แข่งขโมยไอเดียหรือไม่? แน่นอนว่าพอคิดไปทางนี้ก็จะทำให้หลายๆ คนกังวลและกลัวจนไม่ยอมเผยแพร่อะไร เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้เป็นความลับ


อันที่จริงแล้ว ถ้าเราค่อยๆ พิจารณาดู เราจะเห็นว่าข้อมูลหลายๆ อย่างนั้นแม้ว่าจะถูกคนนำเอาไปพูดหรือใช้ต่อ ก็ไม่สามารถมีประสิทธิภาพได้เท่ากับเมื่ออยู่ในมือคนที่เป็นเจ้าของแต่ดั้งเดิม นอกจากนี้แล้วการบอกว่าให้ฟรีก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจำเป็นต้องให้ทุกอย่างหรือทั้งหมดที่คุณมีแต่อย่างใด หากแต่ให้พอประมาณหรือสิ่งที่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมายได้ในระดับหนึ่ง โดยเทคนิคชั้นสูงหรือข้อมูลที่มีค่าเป็นพิเศษนั้น คุณก็เก็บไว้อยู่กับตัวให้กับลูกค้าคนพิเศษของคุณอีกที ซึ่งมันก็ไม่ได้ต่างจากรายการสอนทำอาหารโดยบรรดาเชพชื่อดัง ซึ่งถามว่าเขาเผยสูตรลับทุกอย่างไหมก็คงจะไม่ใช่ แต่ที่เขาทำคือการสอนให้คนรู้สึกสนุกกับการทำอาหาร อยากทำอาหารมากขึ้น เช่นเดียวกับคนทั่วไปที่รู้สึกอยากทานอาหารเมนูใหม่ๆ อยากลองร้านอาหารใหม่ๆ และภาพลักษณ์ของการเป็นคนที่รู้และทำอาหารเก่งก็สะท้อนกลับไปที่ตัวของเชพคนนั้นเองในที่สุด


4. ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรเพื่อตอบมวลชนใหญ่เสมอไป

"Your brand has to stand for something. If everyone loves you, you might be doing something wrong" - Joe Puliizzi


ถ้าเราคิดแบบการตลาดแต่ก่อนที่มักมากับชุดความคิดว่ายิ่งดังเท่าไรยิ่งดี ต้องให้คนเห็นเยอะๆ เราก็มักจะคิดว่าคอนเทนต์ต้องดังเปรี้ยงในระดับมวลชน ต้องมีความชอบและความสนใจจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้เราเลยต้องคิดคอนเทนต์และกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงมวลชนขนาดใหญ่ให้ได้


แต่ในมุมมองของ Content Marketing โดยเฉพาะกับยุคดิจิทัลที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่การนำเสนอคอนเทนต์แล้ว เราอาจจะไม่จำเป็นต้องคิดว่าคอนเทนต์ทุกอันจะต้องตอบสนองความต้องการมวลชนขนาดใหญ่เสมอไป ในทางกลับกันแล้ว เราจะเริ่มพบว่าในแต่ละคอนเทนต์นั้นมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่แตกต่างกันเช่นเดียวกับกลุ่มเป้าหมายที่ก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างย่อยกันในแต่ละกลุ่มด้วย


เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การคิดคอนเทนต์ในหลายๆ ครั้งจึงเป็นการคิดคอนเทนต์เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หรือไม่ก็เป็นการรวมกันของกลุ่มเล็กๆ ที่หาลักษณะร่วมได้ หาใช่การคิดคอนเทนต์ในแบบที่หวังกวาดมวลชนขนาดใหญ่ภายในครั้งเดียว


นอกจากนี้ หากเราคิดคอนเทนต์ในลักษณะของกลุ่มเฉพาะแล้วนั้น ก็ย่อมง่ายที่จะเราจะสามารถปรับเนื้อหาและทำให้คอนเทนต์นั้นๆ เชืื่อมโยงกับกลุ่มนั้นๆ ได้มีประสิทธิภาพดีกว่า แทนที่ต้องพยายามไกล่เกลี่ยและลดน้ำหนักบางอย่างเพื่อจะได้เข้าถึงคนอีกกลุ่มจนไม่สามารถสร้างประสิทธิภาพได้อย่างที่หวังไว้


ลองนึกภาพว่าถ้าคุณต้องสร้างโรงแรมและออกแบบในแบบมาตราฐานเพื่อจับตลาดใหญ่แล้ว แน่นอนว่ามันก็ย่อมเป็นในรูปแบบที่ดูไม่น่าสนใจมากนักเนื่องจากมันต้องประณีประนอมหลายๆ อย่าง ไม่ให้ดูวัยรุ่นและแฟชั่นเกินไป ในขณะที่ก็ต้องดูไม่แก่เกินไป ซึ่งไปๆ มาๆ ก็เลยดูเหมือนๆ กับโรงแรมอื่น แต่ขณะที่โรงแรมบูติคหลายๆ ที่มีดีไซน์ที่เป็นเอกลัษณ์และจับกลุ่มตลาดชัดเจน แม้ว่าจะไม่ได้มีขนาดของกลุ่มเป้าหมายใหญ่เท่าตลาดโรงแรมทั่วๆ ไป แต่ด้วยการโฟกัสทำให้โรงแรมเหล่านั้นสร้างเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำได้อย่างรวดเร็ว มีลูกค้าอย่างต่อเนื่องและเกิดการบอกต่ออยู่เรื่อยๆ


นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การที่คุณใช้คอนเทนต์จับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะย่อมเปิดโอกาสคุณได้แสดงตัวตนและเอกลักษณ์เฉพาะของคุณด้วย บางแบรนด์ใช้โอกาสดังกล่าวแสดงถึงความชำนาญเฉพาะอย่างซึ่งจำเป็นอย่างมากในการสร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่งในขณะเดียวกันคอนเทนต์ของแบรนด์เหล่านั้นก็เป็นที่เข้าใจได้ง่ายกับกลุ่มเป้าหมายด้วยเช่นกัน


ฉะนั้นแล้ว คุณลองคิดให้ดีกว่ากลุ่มเป้าหมาย “จริง” ของคุณคือใคร เพราะปัญหาที่เรามักพบอยู่บ่อยๆ คือการบอกช่วงของกลุ่มเป้าหมายที่กว้างมากประเภทอายุ 25-40 รายได้ 10,000-50,000 มี Social Media มีโทรศัพมือถือ ซึ่งเป็นการระบุที่กว้างมากเกินกว่าจะสามารถเฉพาะเจาะจงได้


5. เล่าเรื่องที่มีดี มีคุณค่า และไม่เล่นกับความไม่ถูกต้อง

อาจารย์ที่ผมเคารพมากคนหนึ่งสอนผมอยู่เสมอว่าศิลปะที่ดี คือศิลปะที่มีศีลธรรม ผมก็ยังใช้ข้อคิดดังกล่าวกลับการสร้างคอนเทนต์เหมือนกัน เพราะต่อให้คุณจะมีเรื่องราวมากมายที่จะเล่า แต่ถ้าเรื่องราวของคุณนั้นไม่ได้เป็นเรื่องราวที่ “ดี” แล้ว มันก็ย่อมไม่นำไปสู่ความสำเร็จที่มีคุณค่าได้


ที่ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะแน่นอนว่าใช้วิธีเล่นกับเรื่องอื้อฉาวเพื่อสร้างกระแส หรือสร้างความน่าสนใจอาจจะทำให้คุณโด่งดังและเป็นที่รู้จักภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่การที่คุณต้องข้องเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ย่อมเป็นแรงเหวี่ยงที่สามารถย้อนกลับมาทำร้ายคุณได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน


ถ้าใครจำได้ถึงกรณีที่แบรนด์รถยนต์ยี่ห้อหนึ่งทำคอนเทนต์โปรโมตรถโดยสร้างเรื่องราวว่าเป็นเด็กสาวที่มาสอนวิธีการหลบเลี่ยงใบสั่งจนเป็นที่พูดถึงอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ตามมาคือมันถูกกลุ่มคนในอินเตอร์เนตจำนวนมากเริ่มวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีจนสุดท้ายคลิปดังกล่าวต้องถูกลบอย่างรวดเร็ว แบรนด์ต้องออกมาขอโทษและชี้แจง จากโอกาสกลายเป็นวิกฤตของแบรนด์ในพริบตา


ความไม่ถูกต้อง หรือสิ่งที่สุ่มเสี่ยงในประเด็นเรื่องศีลธรรมย่อมง่ายต่อการเป็นที่สนใจ แต่แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้วคนในสังคมก็ยังให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ซึ่งถ้าสิ่งที่คุณนำเสนอออกมาไปขัดกับข้อปฏิบัติเหล่านั้นแล้ว คุณก็จะกลายเป็นผู้ร้ายไปในทันที


6. เล่าเรื่องให้เป็น

คุณเคยไปงานสัมนาหรืองานบรรยายที่หัวข้อน่าสนใจ มีข้อมูลที่คุณอยากรู้มากมาย แต่พอผู้บรรยายขึ้นเล่าแล้วก็กลายเป็นชั่วโมงที่สุดแสนน่าเบื่อไหม? หรือไม่ก็วิชาเรียนที่น่าสนใจสุดๆ แต่กลับเจออาจารย์ที่สอนได้อย่างน่าเบื่อสุดๆ


เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะอธิบายได้ดีว่าต่อให้คุณมีคอนเทนต์ที่ดีและน่าสนใจแค่ไหน ก็ใช่ว่ามันจะเวิร์คเสมอไป


ถ้ามองความเชื่อมโยงแล้ว คอนเทนต์ก็เหมือนเรื่องที่เป็นแกนกลางและต้องอาศัยการเล่าที่ดีเพราะให้ตัวเรื่องนั้นน่าสนใจขึ้นไปอีก การเล่าเรื่องนี้เองที่ต้องอาศัยศิลปะเป็นสำคัญเพราะหากเล่าไม่ดี หรือเล่าไม่เข้าท่าแล้ว คอนเทนต์ที่แม้จะดีก็ดูน่าเบื่อเอาได้เช่นกัน


7. คุณภาพของคอนเทนต์ต้องดี

ผมเคยเจอหลายๆ คอนเทนต์ที่ดูน่าสนใจแต่การใช้ภาพประกอบที่แตก เบลอ และไม่ชัด ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าคนทำคอนเทนต์ไม่ได้ตั้งใจและใส่ใจกับมัน และนั่นกลายเป็นจุดอ่อนให้คอนเทนต์นั้นๆ ถูกมองข้ามไปอย่างรวดเร็ว


กรณีข้างต้นน่าจะอธิบายได้ดีว่านอกเหนือจากคอนเทนต์ที่ดี การเล่าเรื่องที่เวิร์คแล้ว คุณต้องไม่ลืมที่จะใส่ใจในคุณภาพของคอนเทนต์ที่นำเสนอด้วย เพราะไม่อย่างนั้นมันจะทำให้สิ่งที่คุณพยายามมาเสียเปล่าไป คุณจำเป็นต้องใส่ใจและไม่มองข้ามรายละเอียดในเรื่องคุณภาพของคอนเทนต์อย่างเช่นการเลือกรูปภาพที่ดีทั้งในแง่ความสวยงามและความคมชัด คุณภาพของวีดีโอที่ใช้ประกอบ การบันทึกเสียง ฯลฯ


ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page