top of page

ความท้าทายในการทำ Talent Development ของสายงาน Marketing


Talent Development

ในการเปลี่ยนแปลงของโลกการตลาดในปัจจุบัน การพัฒนาทักษะสำหรับเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดกลายเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อองค์กรพยายามปั้นกลุ่มคนที่เป็น Talent ขององค์กรเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้มากขึ้นหรือการรักษาพนักงานไว้ในองค์กร อย่างไรก็ตาม การวางแผน Talent Development สำหรับองค์กรในเรื่องการตลาดนั้นก็มีหลายประเด็นที่เป็นความท้าทายที่ต้องพิจารณาอยู่พอสมควร ซึ่งเราจะมาอธิบายในบทความนี้


1. การเปลี่ยนแปลงของ Marketing Technology อย่างต่อเนื่อง

ความท้าทายใหญ่ของการพัฒนาทักษะการตลาดในยุคปัจจุบันคือการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการตลาด (Marketing Technology) ที่มีความรวดเร็วกว่าแต่ก่อน อีกทั้งงานการตลาดในปัจจุบันนั้นต้องไปข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างประสบการณ์การตลาด หรือแม้แต่งานพื้นฐานที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นทำให้การทำ Talent Development จำเป็นต้องมีการพัฒนาความรู้ในเครื่องมือเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แต่การพยายามทำให้พนักงานของเราตามติดเทรนด์ล่าสุดได้อยู่ตลอดเวลานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้ง่ายเลย


การรับมือการความท้าทาย: องค์กรต้องสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาให้คนเกิด Growth Mindset เพื่อช่วยลดแรงต้านทานเมื่อต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับที่องค์กรต้องพยายามจัดเทรนนิ่งที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้พนักงานสามารถได้เติมความรู้และอัปเดตเทรนด์สำคัญได้อย่างสม่ำเสมอ


2. ความหลากหลายของ Skillset

งานการตลาดในปัจจุบันไม่ใช่งานที่ใช้ทักษะเพียงชุดเดียวอีกต่อไป เราพบว่าความรู้พื้นฐานด้านการตลาดเป็นส่วนหนึ่งของทักษะที่ต้องผนวกเข้าด้วยกันเช่นทักษะการสร้างคอนเทนต์ ทักษะการใช้งานดิจิทัล ทักษะด้านสื่อดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีอย่าง AI ฯลฯ และนั่นทำให้การทำ Talent Development ของสายงานการตลาดนั้นจำเป็นต้องมีการสร้างและพัฒนา Skillset ใหม่ ๆ เหล่านี้มากกว่าการเรียนรู้การตลาดในสมัยก่อน การวางแผนทักษะของพนักงานก็จะมีขอบข่ายที่กว้างขึ้นกว่าแม่แบบของทักษะในอดีต


การรับมือกับความท้าทาย: การวางโครงสร้างของทีมการตลาดอาจจะพิจารณาถึงการหาทีมงานที่มีความหลากหลายด้านทักษะเข้ามาอยู่ด้วยกัน องค์กรมีการพยายามที่จะสนับสนุนการทำงานและร่วมมือกันของคนที่มีความหลากหลายนี้เพื่อทำให้บุคลากรได้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาอันเนื่องจากการได้เจอคนที่มีชุดทักษะที่แตกต่างออกไป เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน


3. การรักษา Talent

ประเด็นหนึ่งที่มีการตั้งคำถามจากหลายองค์กรคือเมื่อมีการพัฒนาพนักงานไปแล้วนั้นจะเป็นการเสียพนักงานให้กับคู่แข่งที่มาดึงตัวไปในภายหลังหรือไม่ ? จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราพัฒนาทักษะแล้วพนักงานเกิดอยากออกจากบริษัทเพื่อไปคว้าโอกาสอื่นที่เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการแข่งขันในตลาดรุนแรงมากขึ้น มีการแย่งตัวพนักงานกันหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ


การรับมือกับความท้าทาย: การลงทุนในการพัฒนาบุคลากรเป็นหนึ่งในวิธีการเพื่อรักษาพนักงานไว้ในองค์กร แต่ในขณะเดียวกันนั้น องค์กรก็ต้องเรียนรู้ที่จะต้องเพิ่มสถาพแวดล้อมที่ทำให้พนักงานอยากอยู่กับองค์กรต่อไปด้วย เช่นการปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับทักษะใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา การสร้าง Career Path ที่ชัดเจนให้กับพนักงาน เป็นต้น


4. การรักษาสมดุลระหว่างความคิดสร้างสรรค์และการใช้ข้อมูล

แนวโน้มของการตลาดปัจจุบันจะเริ่มมีการใช้ข้อมูลมาขับเคลื่อนมากขึ้น (Data-Driven Marketing) จนทำให้หลายองค์กรเริ่มมีการพูดถึงเสน่ห์ของการตลาดจากความคิดสร้างสรรค์ที่หายไป ซึ่งนั่นทำให้ผู้บริหารทางการตลาดต้องรู้วิธีการรักษาสมดุลที่เหมาะสมเช่นเดียวกับการทำ Talent Development ที่ต้องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทั้งสองสิ่ง ซึ่งแน่นอนว่าจะมีพนักงานบางส่วนที่ถนัดด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษและเราก็ต้องหาวิธีให้เขาทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีศักยภาพอีกด้านให้ได้


การรับมือกับความท้าทาย: สนับสนุนให้ทีมมีการทำงานร่วมกันของคนที่มีความถนัดแตกต่างกัน พยายามกระตุ้นให้เกิดการะดมไอเดียและการใช้ทักษะร่วมไม่ว่าจะเป็นการคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูล เสริมทักษะทั้งสองอย่างให้กับพนักงานแต่ละคนให้อย่างน้อยก็สามารถเข้าใจแนวคิดและมุมมองของคนที่มีทักษะแตกต่างกันได้


5. การเปลี่ยนแปลงของการตลาดที่รวดเร็ว

นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันก็ยังมีความรวดเร็วมากกว่าแต่ก่อน เราเห็นการเกิดขึ้นของเทรนด์ชั่วข้ามคืน การเกิดกระแสใหม่ แนวคิดใหม่ นั่นทำให้การตลาดที่ต้องพยายามไล่ตามและเข้าใจเทรนด์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และการจะจัดการฝึกอบรมเพื่อให้พนักงานเข้าใจเทรนด์ก็จะเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อยเพราะเราอาจะจะพบว่าเรื่องที่เพิ่งนำเสนอไปนั้นอาจจะกลายเป็นเรื่องล้าหลังไปแล้วก็ได้


การรับมือกับความท้าทาย: องค์กรต้องเพิ่มศักยภาพในการที่จะทำการศึกษาตลาด การอัปเดตเทรนด์อย่างสม่ำเสมอเพื่อมาสนับสนุนการเรียนรู้แทนที่จะรอให้เป็นการจัดอบรมอย่างเป็นทางการที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก การปรับวิธีการทำงานให้พนักงานการตลาดได้ใช้เครื่องมือและติดตามข่าวสารเทรนด์ตลาดอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับการจัดช่วงเวลาให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเทรนด์ต่าง ๆ ก็สามารถช่วยลดช่องว่างตรงนี้ได้

ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page