top of page

ดีจริงหรือ ? กับการเป็น Decision Maker



หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พนักงานหลายคนรู้สึกไม่โอเคกับงานที่ทำ คือการที่ตัวเองไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจกับงานที่ทำ เช่นไม่สามารถตัดสินใจเลือกได้ด้วยตัวเอง ต้องขออนุมัติจากคนอื่นซึ่งหลายทีก็ไม่ได้คำตอบดั่งใจ เป็นต้น


แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะลืมคิดและคนที่ทำงานซึ่งอยู่ในตำแหน่ง "ตัดสินใจ" นั้นมักจะพูดกันบ่อย ๆ คือการได้อำนาจสำหรับการตัดสินใจอาจจะไม่สวยหรูและดูดีอย่างที่หลายคนคิดก็ได้


ที่บอกเช่นนี้เพราะเมื่อเราได้รับอำนาจการตัดสินใจนั้น เท่ากับเรากำลังต้องแบกรับความผิดชอบที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจดังกล่าว ไม่ว่าจะดีหรือร้าย โดยแน่นอนว่าถ้าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นดี ได้ผลเป็นบวกแล้ว คนตัดสินใจก็คงได้รับความชื่นชม ได้ผลงานเป็นธรรมดา แต่ถ้ามันไม่เกิดอย่างที่คาดหวัง กลายเป็นความล้มเหลว มันก็อาจจะกลายเป็นตราบาป กลายเป็นประวัติไม่ดี หรือส่งถึงความน่าเชื่อถือในตัวคน ๆ นั้นเอาเลยก็ได้


นั่นทำให้พี่ ๆ หลายคนอาจจะพูดเปรย ๆ กันว่าดีแล้วที่ไม่ต้องตัดสินใจ แม้ว่าการทำงานตามคำสั่งอาจจะดูอึดอัดใจบ้าง แต่มันอาจจะดีกว่ารับแรงกดดันที่ว่าถ้าตัดสินใจพลาดไปแล้วจะต้องรับผิดชอบ เผลอ ๆ อาจจะถึงขั้นต้องตำแหน่งกระเด็นเอาได้


และนั่นยังไม่นับอีกว่าการเป็นคนที่ต้องตัดสินใจนั้นอาจจะดูดีเมื่อเรามีอำนาจและตัดสินใจในสิ่งที่เราอยากตัดสินใจ แต่ความจริงแล้วมันก็มากับความรับผิดชอบเพื่อตัดสินใจในสิ่งที่เราอาจจะไม่อยากเข้าไปข้องเกี่ยวหรือรับผิดชอบด้วย


เรื่องนี้ลองไปถามคนเป็นหัวหน้างาน ผู้บริหาร ก็จะรู้กันดีว่าการได้มีอำนาจตัดสินใจเยอะเหมือนกลายเป็นคนทรงพลัง สั่งซ้ายหันขวาหันได้ แต่ก็จะมีบางสถานการณ์ที่จะโดนบีบให้ต้องตัดสินใจแม้จะไม่อยากทำ เช่นการประเมินผลงานของลูกน้อง การตัดสินใจเลือกพนักงานที่จะต้องโดนเลย์ออฟ ฯลฯ ซึ่งผลของการตัดสินใจนั้นจะตราติดตัวเองไปอีกนานเลยทีเดียว


ด้วยเหตุนี้เอง ถ้าใครจะบอกว่าอยากย้ายงานเพราะ "อยากมีอำนาจตัดสินใจ"​ ก็อาจจะต้องลองพิจารณากันให้ดีเหมือนกับคำคมในหนัง Spider-Man ที่ว่า


With Great Power Comes Great Responsibility

ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page