top of page

5 ปัญหามักเกิดและทำให้ Design Thinking ล้มเหลวในองค์กร



กระบวนการทำ Design Thinking เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและแพร่หลายมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาจากกระแสการพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับองค์กร ซึ่งเราก็จะเห็นการฝึกอบรม Design Thinking กันเยอะมากในช่วงหลังๆ

แต่กระนั้นเองก็มักจะเจอปัญหาและเสียงวิจารณ์ที่ผมเองก็ลองพูดคุยกับคนที่เรียน Design Thinking ทั้งกับที่ dots academy เองและจากที่อื่นๆ ว่าพวกเขาเจออะไรในกระบวนการต่างๆ ของการทำ Design Thinking หรืออะไรเป็นเหตุให้ทำ Design Thinking ไม่ได้ผลในชีวิตจริง


1. การทำงานของบริษัทไม่เอื้อให้เกิด Design Thinking

ปัญหาที่มักจะเห็นได้ชัดมากๆ คือพอกลับไปทำงานจริงแล้วนั้น กระบวนการทำ Design Thinking ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง อาจจะเกิดขึ้นจากข้อจำกัดในด้านเวลาทำงาน ความคาดหวังที่ต้องการผลลัพธ์จากผู้บริหารต่างๆ หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมที่ไม่ต้องการให้เกิดความผิดพลาดจนไม่สามารถทำการทดสอบหรือลองผิดลองถูกได้ เป็นต้น


2. การไม่อยากทำ Prototype / Modification

แม้ว่าผู้เข้าอบรมจะเข้าใจกระบวนการ Design Thinking ได้อย่างดี รวมถึงสนุกกับการทำ Prototype ในห้องเรียน แต่ในชีวิตจริงแล้วก็ไม่ได้สนุกเหมือนตอนอบรมนัก เพราะการทำ Prototype จะต้องมีการทดสอบแล้วทดสอบอีกหลายรอบ (อาจะจะเป็นสิบๆ หรือร้อยๆ รอบ) รวมทั้งการพัฒนาปรับปรุงกลับไปกลับมาจนทำให้คนทำงานหลายคนเบื่อหน่าย ยุ่งยากและรู้สึกเสียเวลาโดยใช่เหตุ ก่อนจะเลือกกลับไปว่าจะทำงานให้จบในชิ้นเดียว มีการปรับแก้ไม่กี่ครั้งก็พอ และนั่นทำให้ชิ้นไม่ได้ถูกพัฒนาต่อในแบบที่ควรจะเป็น


3. การไม่ได้ทำ Empathy กันอย่างจริงจัง (หรือทำไม่เป็น)

ขั้นตอนแรกและเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากคือการเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งโดยหลักการมันก็ดูเหมือนไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เอาเข้าจริงๆ ก็พบว่าคนส่วนใหญ่ตกม้าตายกันตั้งแต่ขั้นตอนนี้เช่นการไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของลูกค้า ไม่ได้รู้สึกและเห็นความสำคัญของปัญหา หรือจะเอาขั้นหนักเลยก็คือไม่รู้วิธีในการหาปัญหาของลูกค้าจนกลายเป็นการมโนหรือสมมติขึ้นมาซึ่งไม่ได้อยู่บนความจริง และนั่นทำให้กลายเป็นปัญหาที่ถูกนำไปพัฒนาต่ออย่างไม่ควรจะเป็น


4. การหาไอเดียที่ไม่ได้เกิดไอเดียใหม่จริง

สิ่งที่เรามักจะเห็นบ่อยๆ คือพอเข้าสู่ขั้นตอนของการ “หาไอเดีย”​ (Ideation) นั้น เราก็มักจะเห็นการใช้ไอเดียแบบเดิมๆ หรือการยกรูปแบบของไอเดียที่เคยมีอยู่แล้ว คุ้นเคยกันอยู่แล้ว เอามาใช้กันซึ่งก็เลยทำให้การพัฒนาไอเดียไม่สามารถ “ก้าวออกจากกรอบ” ได้อย่างที่หลายๆ คนคาดหวัง และนั่นก็เลยไม่ค่อยจะเกิดนวัตกรรมใหม่แบบที่หลายๆ คนคาดหวังด้วยเช่นกัน และในขณะเดียวกันนั้น บางครั้งเราก็เห็นการโยนไอเดียเวอร์วังชนิดแทบไม่มีทางไปได้ เพราะเราไม่ได้มีการกำกับและให้แนวทางในการพัฒนาไอเดียที่ชัดเจนกับผู้ทำงานว่าควรเป็นประมาณไหนบ้าง ก็เลยทำให้ไอเดียที่เกิดขึ้นหลุดออกไปเกินกว่าจะนำมาพัฒนาต่อได้จริง


5. การไม่นำไปใช้จริง

อีกปัญหาที่ผมมักเจอคือพอเราเรียนเรื่อง Design Thinking กันไปเยอะแล้ว เราก็วางมันไว้ในห้องอบรมโดยไม่ได้หยิบมันไปใช้ต่อ ไปฝึกต่อให้คล่อง ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นว่ามันไม่ได้ถูกฝึกฝนจนชำนาญ แล้วก็จะกลายเป็นทักษะที่ถูกหลงลืม คนเรียนอาจจะพอเข้าใจได้ว่า Design Thinking คืออะไร มีกี่ขั้นตอน แต่สามารถเอาไปใช้งานจริงๆ ได้เพราะไม่ถูกนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็คล้ายๆ กับคนที่สอบใบขับขี่ผ่านแต่ไม่ได้ขับรถเป็นเวลานานก็จะทำให้พอมี “ความรู้” เรื่องรถอยู่แต่ก็ไม่ได้มี “ทักษะ” ในการขับรถอีกแล้ว

 

ที่ผมยกมา 5 ข้อนี้เป็น 5 อย่างที่ผมมักจะเจออยู่บ่อยๆ ซึ่งจริงๆ มันก็จะมีปัญหายิบย่อยมากกว่านี้พอสมควรซึ่งถ้าองค์กรไหนคิดอยากจะทำ Design Thinking กันให้เกิดประโยชน์จริงๆ แล้วก็ต้องหาทางอุดรอยรั่วพวกนี้ให้ได้นั่นเองล่ะครับ

ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page