top of page

เลือกที่ปรึกษาผิด ธุรกิจ SME อาจจะถึงพังเอาได้



หนึ่งในสิ่งที่ผมเห็นและพบว่าหลายธุรกิจโดยเฉพาะกับ SME มักจะก้าวพลาดอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด การทำสิ่งที่ไม่ควรจะทำ หรือแม้แต่เรื่องการรับมือกับวิกฤตนั้น ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการได้รับคำแนะนำผิด ๆ จากที่ปรึกษานั่นแหละ

ที่เรื่องนี้มีผลกับ SME เยอะ เพราะส่วนหนึ่งของธุรกิจในระดับ SME นั้นไม่ได้มีทีมงานที่แข็งแรงในแต่ต้น เรียกว่าค่อย ๆ ประกอบแล้วพัฒนามาเรื่อย ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะพบว่าธุรกิจอยากได้ที่ปรึกษาเข้ามาช่วยในจังหวะที่ต้องการขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น แล้วเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารเดิมอาจจะไม่มีความรู้และความสามารถเพียงพอที่จะรับธุรกิจสเกลใหญ่


แล้วพอไปหาที่ปรึกษานั้น บางคนก็จะไปหาจากคนที่ขึ้นชื่อว่าเก่ง มีประสบการณ์ หรือประสบความสำเร็จในแบบที่ตัวธุรกิจนั้นอยากเป็น บ้างก็หาจากที่ปรึกษาอาชีพ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าได้ที่ปรึกษาที่ดี เข้าใจธุรกิจที่กำลังให้คำปรึกษา รู้กลไกวิธีของธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ก็น่าจะเป็นการช่วยเหลือให้ธุรกิจเติบโตได้


แต่ถ้าที่ปรึกษาเก่งในเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ได้เข้าใจที่ธุรกิจที่กำลังให้คำปรึกษา ไม่ได้ชำนาญในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ก็อาจจะกลายเป็นการให้คำปรึกษาที่ไม่ได้เกิดผลเท่าไรนัก แถมบางทีอาจจะพาหลงทางไปได้เสียอีกต่างหาก นั่นเพราะคำแนะนำที่ใช้ได้กับอุสาหกรรมหนึ่ง / สถานการณ์หนึ่งนั้นอาจจะไม่สามารถใช้ได้กับสถานการณ์อื่น เช่นเดียวกับที่ความสำเร็จซึ่งเกิดกับธุรกิจหนึ่ง ไม่ได้การันตีว่าจะนำมาใช้ได้กับธุรกิจอื่น

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมเองก็พูดคุยกับนักเรียนที่ dots academy เวลามาสอบถามเพราะอยากให้เราเป็นที่ปรึกษา ซึ่งผมกับพาร์ทเนอร์ก็จะถามกลับไปว่าอยากให้ไปเป็นที่ปรึกษาเรื่องไหน ธุรกิจอะไร แล้วเราก็ดูความเหมาะสมว่าเราสามารถให้ "คำปรึกษา" ที่มีคุณภาพได้หรือไม่ เพราะถ้าหากเป็นเรื่องที่เราไม่น่าจะสร้างประโยชน์ได้แล้ว ก็คงไม่ควรจะทำหน้าที่ที่ปรึกษา อาจจะเป็นได้แค่มุมมองและความเห็นเสริมเสียมากกว่า


เหตุการณ์ที่ผมมักจะได้รับฟังบ่อย ๆ จากเรื่องนี้คือการไปคุยกับที่ปรึกษามา แล้วบอกให้ทำนั่น สร้างนี่ เปลี่ยนโน่น ฯลฯ แล้วก็ทำตามโดยไม่ได้ไตร่ตรองให้ดี แล้วก็กลายเป็นเสียเงินมากมายแล้วไม่เกิดผลลัพธ์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะที่ปรึกษาเองไม่มีความรู้และความเข้าใจในบริบทที่กำลังให้คำปรึกษาเพียงพอ ส่วนตัวธุรกิจที่กำลังขอคำปรึกษาก็ไม่ได้ชั่งใจหรือพิจารณาคำปรึกษานั้นให้ดีเสียก่อน และนั้นก็ทำให้เกิดการสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง


อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันคือที่ปรึกษามีความสามารถจริง แต่ขาดเรื่องจริยธรรม คุณธรรม จนนำไปสู่การให้คำแนะนำที่อาจจะได้ผลลัพธ์เรื่องกำไร รายได้ แต่กลับไปสร้างปัญหาด้านอื่นเช่นการบริหารคนในองค์กร การปฏิบัติต่อคู่ค้า พนักงาน ตลอดไปจนถึงการทำแคมเปญการตลาดที่มักสุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่การเป็นดราม่าเอาได้ เช่นที่ปรึกษาสนับสนุนให้ทำการ seeding หน้าม้ารีวิวเยอะ ๆ แล้วกลายเป็นว่าแบรนด์ขาดความน่าเชื่อถือเมื่อโป๊ะแตก เป็นต้น


ที่เขียนเล่ามาถึงตรงนี้ ก็น่าจะเห็นได้ว่าการเลือกที่ปรึกษาทางธุรกิจ หรือแม้แต่กับหุ้นส่วนที่จะให้คำปรึกษากันและกันนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญเอามาก ๆ หากเลือกผิดแล้วก็เหมือนได้กุนซือที่ทำงานไม่เข้าท่า แทนที่จะได้มันสมองอาจจะได้ปัญหามาแทนนั่นเองล่ะครับ

ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page