top of page

Real-Time Dashboard: ของจำเป็นหรือฟุ่มเฟือย ?



เมื่อการตลาดเริ่มใช้งาน Data มากขึ้นก็มีการพูดถึงเรื่องยกระดับการทำ Data Monitoring หรือการทำ Dashboard เพื่อแสดงข้อมูลต่าง ๆ ให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนโดยไม่ต้องอาศัยรอการทำ Report แบบที่เคยทำมา แล้วก็เริ่มมีการพูดถึงการทำ Real-Time Data / Real-Time Dashboard โดยต้องการให้แสดงผลข้อมูลแบบอัปเดตทันทีที่เปิดดู ไม่ต้องรอจบรอบวันหรือคอยอัปเดตเป็นช่วงเวลา


แน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่ดูดี น่าสนใจ และคงเป็นเครื่องมือที่นักการตลาดหลายคนอยากได้ แต่คำถามที่น่าคิดคือธุรกิจจำเป็นต้องทำ Real-Time Dashboard กันจริง ๆ หรือไม่ ? หรือแท้จริงแล้วเราอาจจะต้องการข้อมูลที่อัปเดตเป็นรอบ ๆ ไม่ต้องปัจจุบันทันด่วนก็ได้ ?


คำตอบของเรื่องนี้นั้นก็สามารถตอบได้ว่า Real-Time Dashboard นั้นอาจจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ก็ได้ โดยต้องดูบริบทสำคัญประกอบ ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี


🤔 เราจำเป็นต้องตัดสินใจแบบเร่งด่วนหรือไม่ ?


การมีข้อมูลแบบ Real-Time นั้นคงจะมีประโยชน์ถ้าเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจกันแบบนาทีต่อนาที เช่นเรื่องการเข้าซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การดู Stock สินค้าในช่วงแคมเปญสำคัญ การดูกิจกรรมทางการตลาดในช่วงเวลาหนึ่ง โดยนักการตลาดอาจจะต้องประเมินและตัดสินใจอย่างรวดเร็วเช่นการย้ายกำลังคน การตัดสินใจปิดรับบริการ เป็นต้น ซึ่งถ้าเข้าข่ายในลักษณะนี้แล้ว การมี Real-Time Data ก็ดูจะเป็นประโยชน์มากแถมสามารถทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้ และนั่นทำให้กลุ่มธุรกิจ / บริการประเภทการเงิน การให้บริการฉุกเฉิน การดูแลรักษาความปลอดภัยหรือความมั่นคงของระบบ มักจะต้องการ Real-Time Dashboard กัน


แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราไม่ได้อยู่ในบทบาทที่ต้องตัดสินใจแบบปัจจุบันทันด่วน เราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องการ Real-Time Dashboard เท่าไรนัก เช่นการคอยติดตามแผนกลยุทธ์ระยะยาว การดูผลของแคมเปญการตลาดที่มีระยะเวลานาน การติดตามผลการดำเนินงาน ฯลฯ ซึ่งพวกนี้อาจจะคอยมาอัปเดตกันรายอาทิตย์ รายเดือน ก็ยังได้


ประเด็นพิจารณานี้เองเป็นสิ่งที่ธุรกิจอาจจะต้องคิดดูให้ดีว่า Real-Time Dashboard เป็นเรื่องที่เกินจำเป็นสำหรับตัวเองหรือไม่ เพราะการได้มาซึ่ง Real-Time Dashboard นั้นก็ย่อมมีต้นทุนที่ตามมาแถมยังส่งผลต่อวิธีการทำงานและตัดสินใจในหลาย ๆ อย่างด้วย ฉะนั้นจึงควรคิดให้ดีว่าที่ทำลงไปนั้นได้คุ้มกว่าที่เสียไปหรือไม่นั่นเอง

ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page