top of page

SCO – Social Content Optimization ที่คนทำคอนเทนต์ต้องทำ

การปรับสภาพของคอนเทนต์ให้เหมาะกับบริบทต่าง ๆ (Content Optimization) นั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้สร้างคอนเทนต์ที่ดีมักจะทำอยู่เสมอ เพราะสภาพแวดล้อมของสื่อและพฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลาและทำให้เราต้องพยายามหาวิธีทำให้คอนเทนต์อยู่ในสภาพที่เหมาะสมที่สุด เอื้อต่อการสื่อสารผ่านกระบวนการนั้น ๆ มากที่สุด

หนึ่งในสิ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยก็คือการทำ Search Engine Optimization หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการทำให้คอนเทนต์ของเรานั้นอยู่ในบริบทที่ดีที่สุดของ Search Engine แบบที่ว่าถ้าคนค้นหาอะไรก็ควรจะเจอเราอยู่ในอันดับต้น ๆ จนกลายเป็นที่มาของวิธีคิดว่าทำคอนเทนต์หรือบทความแบบไหนในเว็บติด Search ให้ได้ ซึ่งวิธีการนั้นก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับเงื่อนไขที่เพิ่มมากขึ้น เทคนิคมากขึ้น เพราะ Google Algorithm ก็มีการปรับกันตลอดเวลาเช่นเดียวกับพฤติกรรมการค้นหาของคนที่เรียนรู้วิธีการใช้ Keyword ที่มากขึ้นด้วย

กรณีเดียวกันนั้นก็เกิดขึ้นการ Social Media ต่าง ๆ ที่คนจะดูคอนเทนต์ผ่าน Social Feed และนั่นนำมาถึงการทำ Content Optimization ที่ให้คอนเทนต์ถูกนำเสนอได้เหมาะสมที่สุดบนหน้า Social Feed ของแต่ละ Social Media หรือที่เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการทำ SCO – Social Content Optimization นั่นเอง

หลักการสำคัญของ Social Content Optimization นั้นหากพิจารณากันโดยพื้นฐานแล้วก็คือการดูปัจจัยสำคัญอันมี้ผลในการทำให้คอนเทนต์เป็นที่สนใจแสำหรับคนที่กำลังเปิดดูคอนเทนต์ผ่าน Social Media (หรือที่เราเรียกว่าไถฟีดนั่นแหละ) ซึ่งผมก็มักจะอธิบายหลักให้คนยึดง่าย ๆ คือ

1. Readable / Viewable

คอนเทนต์นั้นต้องอยู่ในรูปแบบที่คนสามารถอ่านออก / ดูได้ตั้งแต่แรกเห็น ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าจอแบบไหน ขนาดไหน เพราะมันก็คงจะประหลาดหากการแสดงผลคอนเทนต์ใน Feed ต่าง ๆ นั้นมีการตัดคำ เรียงลำดับแล้วดูไม่รู้เรื่อง ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคของการสื่อสารในช่วงเวลาที่คอนเทนต์ถูกเลื่อนผ่านหน้าผู้ใช้งาน โดยเคสแบบนี้มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ กับการใช้รูปภาพข้ามแพลตฟอร์มอย่างรูปใน Facebook จะสามารถใช้ขนาดสี่เหลี่ยมจตุรัสได้ แต่พอข้ามไป Twitter แล้วภาพกับโดนตัดจนดูไม่ออกเวลาเลื่อน Timeline นั่นเอง

2. Attractive

การทำให้คน “หยุด” หันมาสนใจนั้นเป็นเงื่อนไขแรก ๆ ทางจิตวิทยาของการสื่อสารอยู่แล้ว และนั่นทำให้เกิดแนวคิดว่าเราควรจะใช้ภาพแบบไหน คำพูดอย่างไร เพื่อให้เกิดการ “หยุดเลื่อนหน้าจอ” (Facebook จะเรียกว่า Thumb stopper) ซึ่งตรงนี้ก็มีหลายปัจจัยย่อยที่เกี่ยวเนื่องกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาตรงกับความต้องการของคน (Valuable Content) การออกแบบให้น่าสนใจ (Attractive Design) การเขียน Headline ต่าง ๆ (หรือการพาดหัว) หรือแม้แต่การเลือกใช้ปุ่มต่าง ๆ บนตัวคอนเทนต์

3. No distraction

หนึ่งนบทเรียนที่ผมได้สมัยเคยทำงานขายสื่อมาก่อน คืออย่าโฟกัสแค่สื่อของเราอย่างเดียว แต่ต้องดูด้วยว่ารอบ ๆ มีสื่ออื่นมาดึงสายตาคนไปจากป้ายของเราหรือไม่ ฉะนั้นแล้วมันก็ย่อมจะดีถ้าคอนเทนต์ของเราไม่ถูกเบียดหรือถูกดึงความสนใจจากคอนเทนต์อื่น ๆ และนั่นทำให้หลายคนพยายามออกแบบคอนเทนต์ให้ “เต็มจอ” เพื่อไม่ให้มีคอนเทนต์อื่น ๆ มากวน ซึ่งก็จะเป็นการเลือกใช้ขนาดรูป / วีดีโอ ที่ต่างออกไปตามแต่ละแพลตฟอร์ม

นอกจากประเด็น 3 ข้อดังกล่าวแล้ว การทำ Social Content Optimization ยังสามารถคิดไปถึงปัจจัยร่วมอื่น ๆ ด้วยอย่างเช่นเวลาการโพสต์ซึ่งจะมีผลสำคัญในเรื่องการไปแย่งความสนใจของคนในข่วงเวลาต่าง ๆ และเป็นเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากจะมีเหตุการณ์อื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย อย่างเช่นเทศกาลสำคัญ มหกรรมกีฬา เป็นต้น

ที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างของการทำ SCO – Social Content Optimization ที่คนทำคอนเทนต์หรือคนที่จะ Approve งานต้องเข้าใจ เรียนรู้ และปรับตัวอยู่เสมอ นั่นเองล่ะครับ

Commentaires


ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page