ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ThinkWithGoogle ซึ่งเป็นบล็อกของ Google ที่อัพเดทแนวคิดการตลาดยุคใหม่ที่มีการค้นคว้าและศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอก็ได้ออกบทความชิ้นใหม่ “When the parth to purchase becomes the path to purpose” ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ เนื่องจากจะเกี่ยวกับกับการปฏิวัติความคิดการตลาดแบบที่เราคุ้นเคยกันไปอยู่ทีเดียว
เนื้อหาสำคัญของบทความนั้น คือผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีทางเลือกมากกว่าเดิมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้พวกเขาได้เข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย เช่นเดียวกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่เขาเป็นเจ้าของได้มากขึ้น และเมื่อข้อมูลต่างๆ ที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้นั้นล้นหลาม (หรืออาจจะมากเกินจำเป็นเลยด้วยซ้ำ) สิ่งที่พวกเขาจะทำคือการ “เลือก” จะเสพคอนเทนต์ที่มีความเชื่อมโยงกับความสนใจส่วนตัวของพวกเขา ซึ่งความสนใจเหล่านั้นคือ Purpose และ Passion นั่นเอง
ที่น่าสนใจขึ้นไปอีกคือพฤติกรรมการ “เลือก” นี้จะเชื่อมโยงไปยังพฤติกรรมซื้อของของพวกเขาด้วย พวกเขาจะเลือกซื้อสินค้าในแบบเดียวกับที่พวกเขาเลือกเสพคอนเทนต์ตามความสนใจ ความเชื่อ และความหลงใหลของแต่ละคน โดยเนื้อหาสำคัญๆ จะแบ่งเป็น 3 หัวข้อ
1. ธุรกิจต้องใช้ Purpose ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
ในการสำรวจของ TNS Ogilvy และ Google นั้นพบว่าผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องของความสนใจส่วนตัวและ “เป้าหมายของชีวิต” ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบและสนใจ ในผลสำรวจพบว่าผู้บริโภคนั้นเลือกแบรนด์ที่สามารถตอบสนองและเข้าถึงพวกเขาผ่านสิ่งที่พวกเขาสนใจมากกว่าแบรนด์ที่เน้นแต่จะให้พวกเขาซื้อสินค้าผ่านการโฆษณาแบบเดิมๆ ถึง 42%
นอกจากนี้แล้ว การสำรวจยังพบว่าพฤติกรรมการที่คนออนไลน์นั้น มีเหตุผลหลักคือต้องการเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ หาคอนเทนต์ที่ทำให้รู้สึกดี ส่วนอันดับสามและมีการเติบโตสูงมากคือการหาข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องที่ตัวเองสนใจหรือชื่นชอบ ทั้งนี้เพราะผู้บริโภคจะพยายาม “เติมเต็ม” ตัวตนของตัวเองด้วยการหาสิ่งที่ตอบสนองความสนใจของตัวเองบนโลกออนไลน์ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความสำคัญกับธุรกิจอยู่พอสมควรเนื่องจาก
คนกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่ากลุ่มคนที่เข้ามาเพื่ออ่านคอนเทนต์ทั่วๆ ไปถึง 70%
พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะบอกต่อหรือแนะนำสินค้าออนไลน์มากกว่ากลุ่มอื่นถึง 1.6 เท่า
นอกจากนี้แล้ว ในทางสถิติยังพบอีกว่าคน Generation C นั้นจะมีมากถึง 75% ที่แชร์หรือพูดถึงแบรนด์ที่ตัวเองรัก
สิ่งที่น่าสนใจจากประเด็นนี้คือการเปลี่ยนแปลงของแนวคิดการโฆษณาที่สมัยก่อนนั้นนักการตลาดพยายามจะใช้เรื่อง Emotional Connect เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนด์เป็นสำคัญ (จึงไม่แปลกที่หนังโฆษณาหลายเรื่องจะเน้นเรื่องซึ้งๆ หรืออะไรที่ประทับใจ) แต่จากการสำรวจนี้จะชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้คนเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับแบรนด์ได้ดีขึ้นนั้นมีปัจจัยอื่นที่อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเสียด้วยซ้ำนั่นเอง
