top of page

#ForbesGlobalCEO – ทักษะใหม่ของเหล่าผู้บริหารในยุคดิจิทัล

ในงานสัมนา Forbes Global CEO Conference ซึ่งผมได้มีการเขียนบทความเล่าบท Session ที่น่าสนใจไปแล้วนั้น ยังมีอีกหนึ่ง Session ที่มีเนื้อหาต่อเนื่องจากเรื่องของการปรับตัวของผู้บริหารในยุคดิจิทัลและแนวทางการรับมือ Digital Disruption ก็คือเรื่องของทักษะและภาวะของผู้นำองค์กรในยุคปัจจุบันว่าจะต้องเป็นอย่างไร

สำหรับเรื่องนี้นั้น Hans-Paul Buerkner ซึ่งเป็น Chairman ของ The Boston Consulting Group (BCG) ได้อธิบายไว้อย่างน่าคิด ซึ่งขอสรุปเนื้อหาสำคัญไว้ในบทความนี้ครับ

บทบาทที่เพิ่มขึ้นของผู้บริหาร นำมาสู่ทักษะใหม่ที่จำเป็น

แน่นอนว่าการทำหน้าที่ผู้บริหารนั้นยังต้องทำงานพื้นฐานเดิมอยู่ อันได้แก่การกำหนดทิศทางให้กับองค์กร (Providing Direction) การสร้างทีม (Forming the team) และการทำให้งานที่วางแผนไว้นั้นสำเร็จอย่างที่คิด (Getting things done) อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจวันนี้คือการบรรดา Stakeholder ต่างๆ ที่องค์กรต้องเข้าไปข้องเกี่ยวนั้นมีมากกว่าเดิม โครงสร้างสังคมก็มีการเปลี่ยนไป วิถีการสื่อสารก็ซับซ้อนกว่าเดิม และนั่นทำให้ทักษะ (Skill set) ของผู้บริหารวันนี้นั้นต้องมีอะไรมากกว่าการแค่ “บริหาร” แบบที่เคยทำมา ซึ่งเขาก็ได้สรุปเป็น 3 ข้อใหญ่ๆ คือ

1. Good Radar Screen

ด้วยภาวะที่โลกนั้นขับเคลื่อนไปเร็วมาก มีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้บริหารเองต้อง “ไว” ในการเข้าใจสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เข้าใจว่าโครงสร้างธุรกิจใหม่ๆ นั้นเป็นอย่างไร เช่น Customer ที่มีพฤติกรรมใหม่ๆ หรือ Customer กลุ่มใหม่ ตลอดไปจนถึงตัว Supplier หรือ Stakeholder อื่นๆ ของตัวองค์กร ซึ่งการจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้นั้นก็แปลว่าผู้บริหารต้องหมั่น “เข้าหา” และ “เข้าใจ” การเรื่องใหม่ๆ เหล่านี้อยู่เสมอนั่นเอง

2. พยายามเข้าใจว่าโลกกำลัง “เกิดอะไรขึ้น”

ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าทุกมุมโลกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ประเทศนั้นมีเหตุการณ์บางอย่าง ประเทศนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ประเทศโน้นมีพฤติกรรมและเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ฯลฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่จะกลายเป็นทางที่ไปสู่วิถีของโลก วิถีของผู้บริโภค และวิถีของธุรกิจในไม่ช้าก็เร็ว ฉะนั้นแล้วผู้บริหารทั้งหลายก็ต้องหมั่นในการที่ “ออกไปดูโลก” ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะไปด้วยตัวเอง การติดตามข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ โดยไม่ใช่ว่ายังคุยหรือเสพข่าวสารกับวงเดิมๆ ของตัวเองซึ่งกลายเป็นปิดโอกาสในการเห็นอะไรใหม่ๆ นั่นเอง

3. การสร้างทีมที่แข็งแกร่ง

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในภาวะที่ธุรกิจเจอในปัจจุบันนั้นเป็นภาวะที่รุนแรงดังการเจอพายุลูกใหญ่ ซึ่งการจะให้ผู้นำที่แข็งแกร่งคนเดียวพาทั้งบริษัทไปก็คงจะเป็นไปได้ยาก ฉะนั้นผู้บริหารต้องรู้จักมองและเลือกคนที่มาเป็นทีมที่ช่วยในการคิด วางแผน และดำเนินการเพื่อให้องค์กรสามารถผ่านภาวะวิกฤตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นไปได้ แต่ทั้งนี้ การสร้างทีมที่แข็งแกร่งนั้นก็จะพบว่าผู้บริหารจะเจอความท้าทายว่าต้องหาคนแบบไหนมาเป็นมันสมองสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน จะเอาคนแบบไหนมาทำงาน เช่นเดียวกับจะบริหารความสัมพันธ์กับพวกเขาอย่างไร จะสร้างความเชื่อใจกันได้อย่างไร ซึ่งนั่นกลายเป็นความท้าทายในทักษะของผู้บริหารอีกทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

bottom of page