เมื่อวันก่อนได้อ่านบทความใน Havard Business Review และพูดถึงความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจยุคใหม่ที่เรียกว่า Datagraph นั้น ก็พบว่าเป็นคำใหม่ (หรือเปล่า) ที่น่าสนใจ และธุรกิจน่าจะลองไปคิดดูว่าเราจะสามารถทำแบบแบรนด์ดังที่มี Datagraph ของตัวเองได้หรือไม่
คำว่า Datagraph นั้นอาจจะพูดกันแบบง่าย ๆ คือโครงข่ายของข้อมูลที่ธุรกิจหรือแพลตฟอร์มนั้นครอบครองอยู่โดยกลไกของข้อมูลนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ธุรกิจสามารถนำมาต่อยอดได้อย่างสม่ำเสมอ แถมการเกิดขึ้นข้อมูลนั้นก็เป็นการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ธุรกิจไม่ได้จำเป็นต้องไปพยายามสร้างหรือหาเพิ่มจากลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ด้วย
ตัวอย่างที่สะท้อนแนวคิดของ Datagraph ที่เห็นได้ชัดก็เช่น Shoppinggrpah ของ Google ที่เก็บข้อมูลว่าผู้ใช้งาน Google ค้นหาข้อมูลสินค้าอย่างไรบ้านผ่าน Google Search ซึ่ง Google ก็สามารถนำข้อมูลที่เชื่อมโยงกับการค้นหานี้มาใช้ประมวลผล เรียนรู้ และนำไปสู่การพัฒนาระบบค้นหาสินค้าและระบบโฆษณาที่ดีขึ้น ตรงใจลูกค้ามากขึ้น
อย่าง Netflix ก็จะมี Moviegraph ที่ Netflix เก็บข้อมูลพฤติกรรมการดูคอนเทนต์ต่าง ๆ ของบรรดาผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นประเภทหนังที่ดู ช่วงเวลาที่ดู วิธีการเลื่อนและเลือกคอนเทนต์ ฯลฯ ซึ่งนั่นทำให้ Netflix สามารถเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของสมาชิกและพัฒนาระบบแนะนำคอนเทนต์ของตัวเองให้ดีขึ้น แม่นยำกว่าเดิม
หรือถ้าเอาที่ใช้กันอยู่เสมอก็คือ Socialgraph ของ Facebook ที่เรียกว่าจับความเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานอย่างละเอียด ศึกษาพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านคนว่ามีความสนใจอะไร ปฏิสัมพันธ์กับอะไร มีแนวโน้มจะสนใจอะไร ซึ่งนั่นทำให้ Socialgraph ของ Facebook สามารถนำเสนอประสบการณ์หลายอย่างที่น่าทึ่งได้
ด้วยคอนเซปต์นี้เอง ทำให้ Datagraph ถูกพูดว่าจะเป็น New Competitive Advantage ของธุรกิจ กล่าวคือถ้าธุรกิจไหนมีความแข็งแรงในเรื่องการสร้าง Datagraph ของตัวเองได้นั้น ก็จะสามารถทำการพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น เร็วกว่าเดิม ในสเกลที่ใหญ่กว่าคู่แข่งได้เป็นอันมาก แถมยังสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการได้ตรงจุดกับลูกค้ามากกว่าคู่แข่ง นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมองค์กรขนาดไหนถึงลงทุนในการพัฒนาเรื่อง Big Data ของตัวเองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเข้าใจกันเสียก่อนคือ Big Data กับ Datagraph นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียทีเดียว เพราะการมีข้อมูลเยอะแต่ขาดการเอามาประมวลผล ไม่มีการใช้ Algorithm มาเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลที่สะสมไว้ และไม่ได้นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการตลาดแล้ว นั่นก็อาจจะเป็นการเสียเปล่าในการเก็บข้อมูลอันมหาศาลก็ได้ ซึ่งตัว Datagraph นั้นจึงมีการพูดแยกออกไปว่าธุรกิจต้องมีการสร้าง Datagraph Strategy ด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ควบคู่ไปกับการพัฒนา Algorithm ให้มีประสิทธิภาพนั่นเอง
เรื่องของ Datagraph น่าจะเป็นอีกเรื่องที่คนทำงานสายการตลาดคงจะให้ความสนใจในหลายปีต่อจากนี้ เพราะเราก็ผ่านยุคการสร้าง Competitive Advantage มาหลายแบบ จากแต่ก่อนก็จะพูดกันเรื่อง Own Media ในช่วงแรกของ Digital Marketing หรือไปสู่เรื่อง Content Marketing / Big Data ซึ่งก็ต้องดูว่าใครจะสามารถพัฒนา Datagraph ให้ล้ำนำคู่แข่งได้นั่นเอง
Comentários