top of page

เทคนิคการทำคอนเทนต์ที่เรามองได้เหมือนกับการต่อยมวย


ต่อยมวย

หนึ่งในเทคนิคการทำคอนเทนต์ที่ผมมักจะเล่าให้ทีมงานหรือคนที่มาฟังบรรยายบ่อยๆ คือการเทียบเคียงและมองการทำคอนเทนต์โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์เหมือนกับการต่อยมวย (ซึ่งแนวคิดนี้ผมก็ได้จากการต่อยอดหลังจากอ่านหนังสือ Jab, Jab, Jab, Right Hook – How to Tell Your Story in a Noisy Social ของ Gary Vaynerchuk)


ที่เปรียบเช่นนี้เพราะผมว่าเราในฐานะคนทำคอนเทนต์ก็เหมือนกำลังต่อยมวยอยู่กับคนอ่านคอนเทนต์ และแต่ละคอนเทนต์ที่เราส่งไปให้ผู้อ่านก็เหมือนหมัดต่างๆ ที่เราระดมปล่อยออกมา


ทีนี้ ถ้าเรามองในแง่การต่อยมวยนั้น หมัดหลักๆ ที่เราจะมีคือหมัดแย๊ปและหมัดฮุค หมัดแย๊ปนั้นอาจจะไม่ได้มีความรุนแรงมากนักแต่สามารถออกได้ถี่ เร็ว เรียกว่าเหมือนหมัดตอดอีกฝ่ายไปเรื่อยๆ ในขณะที่หมัดฮุคเรียกว่าเป็นหมัดที่ออกแรงเยอะแต่มีประสิทธิภาพหนักหน่วงถ้าเข้าเป้า


ทีนี้ถ้าเราจะทำคอนเทนต์แล้ว เราจะปล่อยหมัดแย๊ปหรือหมัดฮุคดี?


เอาจริงๆ ผมก็ไม่มีคำตอบเสียทีเดียว หลายๆ คนที่เป็นคนทำคอนเทนต์เก่งๆ ก็เรียกว่าทำแต่หมัดฮุคแถมเข้าเป้าอยู่ตลอด คนเหล่านี้มักใช้เวลาในการบ่มเพาะคอนเทนต์ และทุ่มเทกับการทำคอนเทนต์มากๆ เช่นหาข้อมูล ทำรูปภาพต่างๆ แน่นอนว่าหมัดของพวกเขาย่อมรุนแรง คนเห็นก็จะรู้สึกติดตา มี Impact หลายๆ คนจดจำตัวคอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์ได้ทันที


อย่างไรก็ตาม การปล่อยหมัดฮุคอยู่ตลอดเวลาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะอย่างที่บอกคือหมัดฮุคต้องใช้แรงเยอะอยู่ไม่น้อย ถ้าจะปล่อยหมัดฮุคให้ได้เร็วและบ่อยเท่าหมัดแย๊ปจึงเป็นเรื่องที่แทบจะยากมากๆ ถ้าหากไม่มีทีมงานที่พร้อม (ลองนึกง่ายๆ ว่าเราจะสามารถทำ Video Content ระดับ Epic Content กันได้ทุกวันหรือเปล่าล่ะ?)


ถ้ามองกลับกัน หมัดแย๊ปก็เหมือนกับคอนเทนต์ประเภทที่ผลิตได้เร็ว ใช้พลังไม่เยอะ แล้วก็สามารถปล่อยออกมาได้เรื่อยๆ หลายคนจะมองว่าคอนเทนต์พวกนี้คือพวก Short Form หรือรูปต่างๆ ที่ทำได้ไม่ยากแต่เอาจริงๆ แล้วพวกบล็อกหรือวีดีโอบางอย่างก็สามารถทำให้เร็วได้เหมือนกัน ทีนี้หมัดแย๊ปเองก็มีจุดต่างจากหมัดฮุคตรงที่มันอาจจะไม่ได้แรงและมี Impact เท่าไร บางอันเรียกว่าอาจจะมีคนอ่านแล้วเฉยๆ ไม่รู้สึกอะไรมาก (แต่ก็ยังดีกว่าไม่โดนอะไรเลย) แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าการแย๊ปได้เปรียบตรงที่ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และถ้าโดนย้ำๆ บ่อยๆ ความเสียหายก็อาจจะหนักพอๆ กับหมัดฮุคหมัดเดียวก็ได้


เมื่อเรามามองส่วนผสมของการใช้หมัดแย๊ปกับหมัดฮุคแล้ว ผมเองก็ไม่สามารถบอกได้เป็นสูตรว่าจะต้องปล่อยหมัดไหนบ่อยหรือมากกว่ากัน ซึ่งมันก็อยู่ที่ความสามารถในการผลิตคอนเทนต์ของแต่ละคนด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผมมักฝากไว้คือวันนี้เราอยู่ในยุคที่มีคอนเทนต์มากมายหลากหลาย ถ้าเราเอาแต่จะรอปล่อยหมัดฮุคอย่างเดียว คนอ่านอาจจะโดนคนอื่นแย่งปล่อยหมัดน็อคไปแล้ว แถมเผลอๆ การปล่อยคอนเทนต์ของเราที่อุตส่าห์คิดว่าดีก็อาจจะแป๊กด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างก็ได้


ในชีวิตการทำคอนเทนต์ของผมนั้น มีหลายครั้งที่บล็อกซึ่งตั้งใจไว้มากกลับไม่มีคนอ่าน และบล็อกที่คิดว่าเป็น “หมัดแย๊ป” กลับกลายเป็น “หมัดฟลุ้ค” ที่คนอ่านถล่มทลายก็มี ซึ่งมันก็ยากที่จะทำนายให้แม่นยำ 100% ได้


พอเป็นเช่นนี้ คำแนะนำที่ผมมักจะบอกคือเราต้องมองดูสภาพของเราว่าปล่อยหมัดแบบไหนได้บ้าง เช่นเดียวกับคนอ่านและคู่แข่งที่มาแย่งปล่อยหมัดกับเรา ถ้าเราไม่ค่อยมีคู่แข่ง การปล่อยหมัดฮุคแบบนานๆ ทีก็อาจจะโอเค แต่ถ้าคู่แข่งเราเยอะ การรอเก็บหมัดฮุคไว้ก็อาจจะไม่เข้าท่าเพราะระหว่างช่วงเวลาที่เราไม่ปล่อยหมัด คนอ่านคอนเทนต์อาจจะลืมเราไปแล้วก็ได้ แถมดีไม่ดีตอนปล่อยหมัดก็อาจจะวืดเอาเสียด้วย (ผมเองก็เจอมาหลายครั้ง)


อ่านบทความนี้แล้ว ลองถามตัวเองกันดูนะครับว่าคุณทำคอนเทนต์แบบไหนกันอยู่ และคุณควรวางแผนในการทำคอนเทนต์อย่างไรต่อไปในอนาคตนะฮะ :)

Comentarios


ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page