เชื่อว่าวันนี้หลายๆ คนเห็นเคสของ #RIPWalls ที่ถูกพูดถึงกันพอสมควรบนโลกออนไลน์ (ใครอยากรู้ว่าคืออะไรก็ตามไปดูใน #hashtag เอานะครับ) ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่ก็ไม่ใช่เคสแรกของคอนเทนต์ที่แบรนด์สร้างกลายเป็นศรย้อนมาทำลายตัวเองแต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้เราก็เคยเห็นเคสมากมายที่เกิดการ “พลาด” จนถึงขั้น “พัง” กันมาไม่น้อย
(หมายเหตุ: ผมไม่ขอวิจารณ์เรื่องคอนเทนต์ดังกล่าวเพราะอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุที่เราก็ไม่รู้นะครับว่าเพราะอะไร)
เรื่องนี้เลยย้อนกลับมาที่ผมมักจะพูดย้ำเสมอถึงการระวัง “ความชะล่าใจ” ของการทำคอนเทนต์โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์
ในภาวะปัจจุบันที่การทำคอนเทนต์ของแบรนด์กลายเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสนใจเนื่องจากมองว่ามันเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างประสบการณ์ให้กลุ่มเป้าหมายเช่นเดียวกับการช่วงชิงโอกาสจากคู่แข่งจากหลายๆ สถานการณ์ ประกอบกับโลกออนไลน์ยิ่งไหวกับอะไรที่ใหม่ๆ สดๆ และสามารถแพร่กระจายด้วยเร็วด้วย มันเลยเป็นที่น่าหลงใหลของคนทำงานการตลาดอยู่พอสมควร
และเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงวันนี้ เราเห็นเคสหลายๆ อย่างที่ใช้คอนเทนต์จน “สร้างกระแส” ให้เกิดขึ้นจนมีการถอดวิธีการออกมาเช่นสร้างดราม่า เน้นให้ขำ มุกตลกแรงๆ หรือเรื่องของการเกาะกระแส (หรือที่เราชอบมาพูดกันว่าทำ Real-Time Content กัน) จนเสมือนว่ามันกลายเป็นคัมภีร์ของนักการตลาด / นักโฆษณาในยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้
ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่าหลายๆ ทีเราสนใจแต่เรื่องอยากให้มัน “ดัง” และ “โดน” จนมองข้ามสิ่งพื้นฐานสำคัญ นั่นคือเรื่อง “ความดีงาม” ที่แฝงอยู่ในคอนเทนต์
คำพูดหนึ่งที่อาจารย์ผมสอนเสมอคือ “ศิลปะที่ดีคือศิลปะที่มีศีลธรรม ศิลปะที่ไม่มีศีลธรรมไม่วันเป็นศิลปะที่ดีได้”
ทุกวันนี้ผมก็ยังยึดคำพูดดังกล่าวเป็นกฏเหล็กในใจของผมในการทำงานทุกอย่าง
แน่นอนว่ากฏดังกล่าวอาจจะไม่ได้อยู่ในตำราเทคนิคสร้าง Viral Video / Video Content อะไรนักแต่มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้เลย เพราะลึกๆ แล้วมนุษย์ทุกคนล้วนมีเรื่องของความผิดชอบชั่วดีอยู่ในใจ เมื่อไรที่เรื่องนี้ถูกหักไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเพศ ลดค่าของความเป็นมนุษย์ ดูถูก หรือทำร้ายจิตใจ มันย่อมไม่นำไปสู่ความรู้สึกดีๆ
เคสของหลายๆ แบรนด์ที่พลาดท่าบนโลกออนไลน์ก็มักจะข้องเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ทั้งนั้น เพราะสิ่งที่ทำมันไปค้านกับความเชื่อในเรื่องความถูกต้อง ความดีงาม ศีลธรรม ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะออกมามุมไหนมันก็มีแต่ผิดทั้งสิ้น
ความชะล่าใจที่ผมมักพูดโยงมาเรื่องนี้ เพราะหลายๆ คนกำลังตื่นกับเรื่องไลค์ คอมเมนต์ จำนวนวิว ฯลฯ จนทำให้เกิดความคิดประเภทว่าทำยังไงให้ดัง ทำยังไงให้คนชอบ จนหลายๆ ครั้งมันกำลังเล่นกับขอบเขตของศีลธรรม จรรยาบรรณ ซึ่งเมื่อไรที่มันข้ามเส้นไปแล้วก็มีแต่สร้างความเสียหายไปเสีย
พอเป็นแบบนี้ มันเลยเป็นสิ่งที่คนทำคอนเทนต์ให้แบรนด์ (หรือคนทำคอนเทนต์ทั่วๆ ไป) ต้องตระหนักเรื่องนี้ไว้อยู่เสมอ แม้มันอาจจะไม่อยู่ในกฏหรือตำราการตลาดอะไรก็ตาม เราต้องคิดเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วนก่อนจะเผยแพร่งานออกไป ต้องวิเคราะห์ให้รอบคอบว่ามันเสี่ยงกับอะไรหรือไม่ มีรายละเอียดอะไรที่เรามองข้ามไปหรือเปล่า