top of page

การตื่นตัวของ Content Marketing ในประเทศไทย (ในทัศนะของผม)

หลังจากเราผ่านยุคการสร้างฐานผู้ชม (Audience) ให้กับช่องทางต่างๆ บนออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter Instagram YouTube ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายๆ แบรนด์ก็จะเริ่มตั้งคำถามของการใช้ประโยชน์จากฐานผู้ชมที่สร้างไว้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคนไลค์บน Facebook หรือ Follower ใน Twitter และ Instagram ซึ่งแกนกลางสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่องของการสร้างข้อมูลเนื้อหาที่จะใช้สื่อสารกับผู้ชมในแต่ละช่องทาง

อันที่จริง การตื่นตัวเรื่องคอนเทนต์ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเพราะเราก็เริ่มเห็นหลายๆ แบรนด์หันมาให้ความสำคัญกับการทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ อย่างที่ Edge Asia (ที่ทำงานของผมเอง) เองก็มีการวางแผน Content Strategy ที่ค่อนข้างละเอียดเพื่อตอบโจทย์ตั้งต้นว่าคอนเทนต์เหล่านี้จะสร้างมูลค่าในการสื่อสารทางการตลาดได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังมักพบอยู่ไม่น้อยคือการโฟกัสความสำคัญไปที่ตัวเลขวัดในเชิงปริมาณอย่างเช่น Like Comment Share โดยที่ไม่ได้วิเคราะห์ในเชิงคุณภาพว่าคอนเทนต์เหล่านั้นสร้างประโยชน์อย่างไรให้กับแบรนด์

เมื่อเป็นเช่นนี้ Content Marketing ที่กำลังจะกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อจากนี้จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญของการทำความเข้าใจเรื่องการตลาดออนไลน์อยู่มากพอสมควร ตั้งแต่วัตถุประสงค์ การดีไซน์ Content Strategy และวิธีการวัดผล

นอกจากนี้แล้ว แบรนด์จะเริ่มพบว่าการสื่อสารกับผู้บริโภคในแบบ Content Marketing นั้นไม่ใช่การทำคอนเทนต์ประเภททำคลิปไวรัลเดียวได้หนึ่งล้านวิวแล้วจบกันไป แต่คือการสร้างทิศทางของการนำเสนอภาพของแบรนด์อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งจะกลายเป็นความท้าทายของหลายๆ แบรนด์ที่ต้องวางกลยุทธ์และงบประมาณในการผลิตคอนเทนต์ให้ได้เพียงพอ

และเมื่อแบรนด์ต้องผันตัวเองมากลายเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์อย่างจริงจังมากขึ้น แทนที่จะเป็นผู้ซื้อโฆษณาเหมือนแต่ก่อน กระบวนการคิดและสร้างคอนเทนต์ก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง โดยสิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้น เช่น

  1. การทำความเข้าใจ Content Marketing อย่างจริงจังในระดับองค์กร ไม่ใช่แค่การทำคอนเทนต์บน Facebook หรือทำคลิปวีดีโอบน YouTube

  2. คนทำงานสายวารสาร บรรณาธิการ จะเข้ามามีบทบาทกับการตลาดของแบรนด์ในฐานะผู้สร้างคอนเทนต์มากขึ้น

  3. การเกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ในองค์กรอย่าง Content Marketing Executive / Content Editor หรือแม้แต่ตำแหน่งบริหารอย่าง Chief Content Officer

  4. การเพิ่มกำลังผลิตคอนเทนต์เพื่อนำไปเผยแพร่ในช่องทางของแบรนด์เองอย่างจริงจัง โดยจะเป็นคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นเผื่อช่องทางนั้นๆ ไม่ใช่การนำคอนเทนต์จากช่องทางอื่นๆ มาใส่ประเภทเอาโปสเตอร์โฆษณามาโพสต์บน Facebook เป็นต้น

  5. การผลิตคอนเทนต์ประเภทวีดีโอจะเริ่มเป็นที่สนใจอย่างมากเนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่นิยมเสพคอนเทนต์ประเภทวีดีโอมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัญหาในเรื่องกระบวนการผลิตที่อาจจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าคอนเทนต์ประเภทอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเบื้องต้นที่ผมมองสภาวะของ Content Marketing ในประเทศไทยที่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งระหว่างปีคงจะมีอะไรอัพเดทมาเล่าสู่กันฟังเรื่อยๆ แหละครับ ^^

#contentmarketing #ไทย